วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ประเพณีไทย




ประเพณีทานขันข้าว คือ ประเพณีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ไปแล้ว เป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงความกตัญญูอีกแบบหนึ่งของชาวไทย โดยนำสำรับกับข้าวไปถวายวัดในวันเทศกาลสำคัญ เช่น สงกรานต์ เข้าพรรษาและออกพรรษา หรือทำบุญอุทิศส่วนกุศลในโอกาสอื่นๆ

ประเพณีไทยการทานขันข้าว นอกจากจะเป็นการทำบุญ ที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษแล้ว การประกอบอาหารก็ดี การไปทำบุญร่วมกันที่วัดก็ดี เป็นกิจกรรมที่ทำให้ครอบครัวเกิดความรัก ความอบอุ่น ประการสำคัญ การพาเด็ก ๆ ไปทานขันข้าวที่วัด นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมการทำบุญแล้ว ยังเป็นการสืบทอดในเรื่องความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยไม่ต้องใช้วิธีอบรมสั่งสอน แต่เป็นวิธีที่ผู้ใหญ่ได้ปฏิบัติตนให้ลูกหลานได้เห็นเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นวิธีสืบทอดหรือการสอนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องมีการพูดแต่อย่างใด
ประเพณีไทย ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำเป็นประเพณีที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับอภินิหารของพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองคือพระพุทธมหาธรรมราชา ซึ่งคนหาปลาสองสามีภรรยาทอดแหได้ที่วังเกาะระสารในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักในเขตตัวเมืองเพชรบูรณ์ จึงนำไปไว้ที่วัดไตรภูมิ เมื่อถึงเทศกาลสารทพระพุทธรูปองค์นี้จะหายไปและชาวบ้านจะพบมาเล่นน้ำที่บริเวณที่ค้นพบเดิม ดังนั้นในเทศกาลทำบุญสารทหลังจากทำบุญเสร็จแล้วจะมีพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงริ้วขบวนเรือไปสรงน้ำที่วังเกาะระสาร แต่ปัจจุบันนำมาทำพิธีที่ท่าน้ำของวัดโบสถ์ชนะมารในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

พิธีกรรมของประเพณีไทย ประเพณีอุ้มพระดำน้ำนี้ จัดให้มีการตั้งศาลเพียงตาแล้วอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชามาประทับ ทำพิธีสวดคาถา โดยพราหมณ์ผู้ทำพิธีนุ่งขาวห่มขาวแล้วอัญเชิญขึ้นบนบุษบกให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชาและมีงานฉลองสมโภช จากนั้นจัดให้มีพิธีอุ้มพระดำน้ำในตอนเช้าหลังทำบุญสารทโดยมีขบวนเรือแห่ นำไปโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อถึงบริเวณวัดโบสถ์ชนะมาร เจ้าเมืองพร้อมข้าราชบริพารจะอุ้มพระลงดำน้ำ โดยหันหน้าองค์พระไปทิศเหนือ ๓ ครั้ง ทิศใต้ ๓ ครั้ง ชาวบ้านจะโปรยข้าวตอก ดอกไม้และข้าวต้มกลีบ เมื่อดำน้ำเสร็จชาวบ้านจะตักน้ำรดศีรษะและรดกันเองเพื่อเป็นสิริมงคล

สำหรับประเพณีไทยนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าทำพิธีอุ้มพระดำน้ำแล้วจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น